Phuket Coral Conservation

ชื่อโครงการ ฟื้นฟูแนวปะการังธรรมชาติอ่าวป่าตองโดยการมีส่วนร่วม

หน่วยงานรับผิดชอบ
– สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
– โรงแรมถาวรบีช วิลเลจ รีสอร์ท แอนด์ สปา (บริษัท เจริญชนะ (๑๙๘๖) จำกัด)

 

ระยะเวลาดำเนินโครงการ
ตุลาคม ๒๕๖๐ – กันยายน ๒๕๖๔

หลักการและเหตุผล

อ่าวป่าตองในอดีตเคยได้ชื่อว่ามีแนวปะการังที่ค่อนข้างสมบูรณ์แห่งหนึ่งของจังหวัดภูเก็ต มีความสำคัญต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นที่อยู่อาศัย หลบภัยวางไข่ เลี้ยงตัวของสัตว์น้ำวัยอ่อนรวมทั้งสิ่งมีชีวิตนานาชนิด เป็นแหล่งทำการประมง และแหล่งท่องเที่ยวที่ทำรายได้ให้กับประชาชนชาวจังหวัดภูเก็ต โดยแนวปะการังทางด้านเหนือบริเวณหาดนาคาเล ที่อยู่ด้านหน้าของโรงแรมถาวรบีช วิลเลจ รีสอร์ท แอนด์ สปา มีพื้นที่ประมาณ ๑๒๘ ไร่
เคยเป็นแหล่งที่นักท่องเที่ยวเข้าไปท่องเที่ยวดูปะการัง ซึ่งปัจจุบันแทบไม่มี นอกจากนี้สัตว์น้ำก็มีจำนวนลดลงไปด้วย เนื่องจากแนวปะการังมีสภาพเสื่อมโทรม
ทั้งจากภัยธรรมชาติการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของน้ำทะเลทำให้เกิดปะการังฟอกขาว การระบาดของปลาดาวมงกุฎหนามที่กินปะการังเป็นอาหาร ในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ (นิพนธ์, ๒๕๕๓) ผลกระทบจากเหตุการณ์คลื่น สึนามิ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๖ ที่สำคัญผลกระทบจากการเปิดหน้าดินเพื่อก่อสร้าง และเมื่อฝนตกตะกอนจะไหลลงสู่ทะเลทับบนแนวปะการัง การปล่อยน้ำเสียจากชุมชนบ้านเรือน โรงแรม ที่พักอาศัยที่ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งรอบอ่าวป่าตองทำให้ปะการังตายและยังส่งผลต่อคุณภาพน้ำทะเลในพื้นที่อ่าวป่าตองด้วยนอกจากนี้การทำประมงของประชาชนในพื้นที่โดยการเดินลงไปเหยียบย่ำเรื้อทำลายแนวปะการัง เพื่อจับสัตว์น้ำก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้แนวปะการังอ่าวป่าตองมีสภาพเสื่อมโทรมลงอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

จากสถานการณ์ปัญหาข้างต้น โรงแรมถาวรบีช วิลเลจ รีสอร์ท แอนด์ สปา ซึ่งประกอบธุรกิจด้านที่พักและการท่องเที่ยวในพื้นที่อ่าวป่าตองได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหา และตระหนักดีว่าหากปล่อยเช่นนี้ต่อไปจะกระทบกับการท่องเที่ยวและทรัพยากรในภาพรวมของอ่าวป่าตอง และโรงแรมมีแนวคิดในการทำธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมีความพร้อมเข้ามามีส่วนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในการดูแลรักษาและฟื้นฟูระบบนิเวศแนวปะการังอ่าวป่าตอง จึงประสานงานเจ้าหน้าที่ของส่วนอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อขอรับสนับสนุนการทำโครงการเพื่อดูแลและฟื้นฟูแนวปะการัง เบื้องต้นได้มีการลงสำรวจพื้นที่ พบว่าแนวปะการังอ่าวป่าตองมีศักยภาพในการฟื้นตัวตามธรรมชาติ
หากสามารถลดปัจจัยที่มีผลกระทบได้ และยังมีการกำหนดแนวทาง วิธีการและกิจกรรมที่จะฟื้นฟูแนวปะการัง โดยวิธีต่างๆ เช่น การจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ การย้ายปลูกปะการังโดยนำเศษปะการังที่ถูกคลื่นพัด และจากการเหยียบของชาวประมง ลงไปติดในที่เหมาะสมจัดทำฐานสำหรับการย้ายปลูกปะการัง การนำปะการังไปอนุบาล และจัดทำกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ปะการัง เช่น การติดตั้งทุ่นผูกเรือ การเก็บขยะใต้ทะเล เป็นต้น เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในทางปฏิบัติและมีความต่อเนื่อง โรงแรมจึงได้จัดทำแผนงานโครงการแบบมีส่วนร่วมระหว่างหน่วยงานกับโรงแรมถาวรบีช วิลเลจ รีสอร์ท แอนด์ สปา สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินกิจกรรมฟื้นฟูอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา ๕ ปี กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สนับสนุนด้านงบประมาณ ด้านวิชาการ และการทำโครงการภายใต้กฎหมาย

วัตถุประสงค์
๑. เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศแนวปะการังและสิ่งมีชีวิตในพื้นที่แนวปะการังแหล่งท่องเที่ยวอ่าวป่าตอง

๒. เพื่อสนับสนุนสร้างการมีส่วนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในการดำเนินกิจกรรมฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในพื้นที่อ่าวป่าตอง

๓. เพื่อสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของผู้ประกอบการในการมีส่วนร่วมทำประโยชน์เพื่อสังคมและท้องถิ่น

 

พื้นที่ดำเนินงาน

พื้นที่หาดนาคาเล อ่าวป่าตอง อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต

 

ขั้นตอนและวิธีการดำเนินงาน

๑. ติดต่อประสานงานและเสนอแนวคิดให้กับหน่วยงานเพื่อสำรวจพื้นที่และประเมินความเป็นไปได้ในการจัดทำโครงการ

๒. ประสานงานสำรวจสภาพพื้นที่ กำหนดวิธีการจัดทำแผนจัดทำรายละเอียดโครงการ และบันทึกความร่วมมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

๓. จัดกิจกรรมลงนามความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

๔. จัดทำแผนปฏิบัติการในแต่ละกิจกรรม ดังนี้
๔.๑ กิจกรรมสำรวจและประเมินเพื่อจัดทำสถานภาพแนวปะการัง
๔.๒ กิจกรรมการฟื้นฟูแนวปะการัง โดยวิธีการต่างๆ ที่เหมาะสม
๔.๓ กิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการอนุรักษ์กับกลุ่มเป้าหมาย ประชาชน และหน่วยงานในพื้นที่
๔.๔ กิจกรรมซ่อมแซมและติดตั้งทุ่นผูกเรือ
๔.๕ กิจกรรมดำน้ำเพื่อทำความสะอาดแนวปะการัง
๔.๖ กิจกรรมการรณรงค์เพื่อลดการปล่อยน้ำเสียลงทะเลกับกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่
๔.๗ กิจกรรมสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการและเทศบาลป่าตอง

๕. ดำเนินการตามแผน

๖. การประชาสัมพันธ์การดำเนินโครงการ

๗. ติดตาม ประเมินผล รายงานความก้าวหน้า และสรุปผลการดำเนินงานเป็นระยะ

Leave a Reply